การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนม่านมงคล
ฟ้อนม่านมงคล เป็นการฟ้อนที่มีลีลาอ่อนช้อยสวยงาม ซึ่งสันนิษฐานกันไปต่างๆนานา บางคนสงสัยว่าเป็นของพม่า เพราะเรียกว่า ฟ้อนม่าน แต่ฟ้อนม่านมงคลนี้น่าจะเป็นของไทย สังเกตได้จากท่ารำที่อ่อนช้อยงดงาม มีเพียงท่ารำในตอนต้นเท่านั้นที่ดัดแปลงมาจากของพม่า หากเป็นการฟ้อนรำของพม่า จะมีลีลาและจังหวะในการฟ้อนรำที่รวดเร็วและเร่งเร้ากว่าของไทย น่าจะเป็นไปได้ที่ไทยประดิษฐ์ท่ารำขึ้น โดยอาศัยท่ารำของภาคเหนือ และมีท่ารำของภาคกลางปนด้วย โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องราชาธิราช ซึ่งเป็นตำนานพงศาวดารที่มีมาดังนี้
เนื้อเรื่องกล่าวถึงพวกมอญ (พม่า) แบ่งเป็น 2 พวก คือ กรุงหงสาวดี กับกรุงรัตนบุระอังวะ ซึ่งทั้งสองเมืองจะรบกันอยู่เสมอ กรุงหงสาวดีมีทหารเอก คือ สมิงพระราม ซึ่งเก่งในทางรบ คราวหนึ่งทางฝ่ายกรุงหงสาวดีแพ้ สมิงพระรามถูกจับเป็นเชลยขังไว้ ณ กรุงอังวะ เมื่อพระเจ้ากรุงจีนยกทัพมาประชิดอังวะ ทำให้พระเจ้ากรุงอังวะต้องส่งทหารเอกมาต่อสู้กับกามนี ทหารเอกของพระเจ้ากรุงจีน โดยตกลงว่า หากอังวะแพ้จะเอาเป็นเมืองขึ้น ถ้าอังวะชนะจะยกทัพกลับไป พระเจ้ากรุงอังวะจึงได้ออกประกาศหาตัวผู้สมัครออกไปต่อสู้กับกามนีทหารเอกเมืองกรุงจีน ประกาศผ่านที่คุมขังของสมิงพระราม สมิงพระรามจึงคิดรับอาสาเพื่อต้องการให้ตนเองพ้นจากการคุมขังและเป็นการป้องกันกรุงหงสาวดี เพราะหงสาวดีอยู่ทางใต้ของกรุงอังวะ หากพระเจ้ากรุงจีนตีอังวะก็จะต้องยกทัพเลยไปถึงกรุงหงสาวดี ถึงอย่างไรอังวะก็เป็นเมืองมอญเหมือนกัน
สมิงพระรามจึงออกต่อสู้กับกามนี และได้ชัยชนะ ฆ่ากามนีตาย ตามสัญญาของพระเจ้ากรุงอังวะจะยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง และยกพระราชธิดาให้เป็นมเหสี สมิงพระรามขอสัญญาอีกข้อหนึ่งว่าห้ามไม่ให้เรียกตนว่าคนขี้คุกหรือเชลย พระเจ้ากรุงอังวะตกลง จึงจัดการอภิเษกขึ้น งานนี้จึงมีการฟ้อนม่านมลคลเป็นการสมโภช
เพลงฟ้อนม่านมงคลนี้ มีผู้นำทำนองเพลงฟ้อนม่านมงคลไปใส่เนื้อร้องเป็ฯแบบเพลงไทยสากล ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก จนครูมนตรี ตราโมท ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำในฐานะผู้แต่งทำนองเพลง
การแต่งกาย
เป็นแบบพม่า นุ่งผ้าซิ่นกรอมเท้า ใส่เสื้อเอวสั้น ริมเสื้อโครงในมีลวดอ่อนงอนขึ้นจากเอวเล็กน้อย เสื้อแขนยาวถึงข้อมือ มีแพรคล้องคอ ทิ้งชายลงมาถึงเข่า เกล้าผมทัดดอกไม้ มีอุบะห้อยมาทางด้านซ้าย
โอกาสที่แสดง
ใช้แสดงในงานสมโภช งานต้อนรับ และโอกาสเบ็ดเตล็ดต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น