วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

การแสดงภาคเหนือ เพลง ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา


การแสดงภาคเหนือ เพลง ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา


      เป็นการฟ้อนอีกแบบหนึ่ง  “ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา”  มีทั้งฟ้อนมือเปล่าและฟ้อนโดยถือแพรยาวคนละฝืน  การฟ้อนแบบนี้ไม่ทราบว่าเป็นของไทยหรือของพม่า   เพราะตามสายตาของคนไทยก็ว่าเป็นของพม่า  จึงเรียกว่า “ฟ้อน” (ฟ้อนม่าน)   แต่ตามสายตาของพม่าก็ว่าควรจะเป็นของไทย เพราะเคยทราบว่าพม่าเรียกว่าฟ้อนแบบนี้ว่า “โยเดีย” คือ อยุธยา (โยเดียหมายถึงกลุ่มชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปคราวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.2310  และคนไทยกลุ่มนี้ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมไทยไว้  และยังคงแพร่หลายอยู่ในพม่าตราบเท่าทุกวันนี้)   ถ้าพิจารณากันในด้านศิลปะตามทัศนะของไทยจะเห็นได้ว่า   ท่ารำเป็นแบบพม่าปนไทยเหนือ  แต่มีแบบไทยภาคกลางปนเล็กน้อย
          เพลงดนตรีมีสำเนียงของไทยภาคกลาง  ภาคเหนือ  และพม่าบ้างเล็กน้อย  แต่เครื่องประกอบจังหวะประเภทเครื่องหนัง  มีทั้งของไทยภาคกลางและพม่าปนกัน  จึงทำให้เสียงกระเดียดไปเป็นเพลงพม่า  ส่วนเนื้อร้องนั้นเข้าใจว่าเป็นภาษาพม่า  แต่เมื่อเอาคำเหล่านี้ไปร้องให้พม่าฟังพม่าก็ฟังไม่ออก  นอกจากจะฟังคล้ายกระแสเสียงพม่า  มีผู้เคยไปฟังเพลงนี้ในพม่า  ซึ่งพม่าผู้บรรเลงบอกว่าเป็นของโยเดีย  ดังนั้นเพลงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ควรถือว่าเป็นฟ้อนสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมของพม่าและไทย
การแต่งกาย
          การแต่งกายแบบพม่า  นุ่งซิ่นกรอมเท้า  ใส่เสื้อเอวสั้นแขนยาวถึงข้อมือ  มีลวดอ่อนงอนขึ้นไปจากเอวเล็กน้อย  มีแพรห่มสีต่างๆ  คล้องคอทิ้งชายยาวลงมาถึงเข่า  เกล้าผมสูงกลางศีรษะ ปล่อยชายผมลงมาทางบ่าข้างซ้าย  ติดดอกไม้สด มีพวงมาลัยและอุบะยาวลงมาทับชายผม
โอกาสที่แสดง
          แสดงในโอกาสเบ็ดเตล็ด  เช่น  งานมงคลหรือสลับฉากการแสดงรายใหญ่ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น