วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

การแสดงภาคเหนือ เพลง ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา


การแสดงภาคเหนือ เพลง ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา


      เป็นการฟ้อนอีกแบบหนึ่ง  “ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา”  มีทั้งฟ้อนมือเปล่าและฟ้อนโดยถือแพรยาวคนละฝืน  การฟ้อนแบบนี้ไม่ทราบว่าเป็นของไทยหรือของพม่า   เพราะตามสายตาของคนไทยก็ว่าเป็นของพม่า  จึงเรียกว่า “ฟ้อน” (ฟ้อนม่าน)   แต่ตามสายตาของพม่าก็ว่าควรจะเป็นของไทย เพราะเคยทราบว่าพม่าเรียกว่าฟ้อนแบบนี้ว่า “โยเดีย” คือ อยุธยา (โยเดียหมายถึงกลุ่มชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปคราวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.2310  และคนไทยกลุ่มนี้ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมไทยไว้  และยังคงแพร่หลายอยู่ในพม่าตราบเท่าทุกวันนี้)   ถ้าพิจารณากันในด้านศิลปะตามทัศนะของไทยจะเห็นได้ว่า   ท่ารำเป็นแบบพม่าปนไทยเหนือ  แต่มีแบบไทยภาคกลางปนเล็กน้อย
          เพลงดนตรีมีสำเนียงของไทยภาคกลาง  ภาคเหนือ  และพม่าบ้างเล็กน้อย  แต่เครื่องประกอบจังหวะประเภทเครื่องหนัง  มีทั้งของไทยภาคกลางและพม่าปนกัน  จึงทำให้เสียงกระเดียดไปเป็นเพลงพม่า  ส่วนเนื้อร้องนั้นเข้าใจว่าเป็นภาษาพม่า  แต่เมื่อเอาคำเหล่านี้ไปร้องให้พม่าฟังพม่าก็ฟังไม่ออก  นอกจากจะฟังคล้ายกระแสเสียงพม่า  มีผู้เคยไปฟังเพลงนี้ในพม่า  ซึ่งพม่าผู้บรรเลงบอกว่าเป็นของโยเดีย  ดังนั้นเพลงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ควรถือว่าเป็นฟ้อนสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมของพม่าและไทย
การแต่งกาย
          การแต่งกายแบบพม่า  นุ่งซิ่นกรอมเท้า  ใส่เสื้อเอวสั้นแขนยาวถึงข้อมือ  มีลวดอ่อนงอนขึ้นไปจากเอวเล็กน้อย  มีแพรห่มสีต่างๆ  คล้องคอทิ้งชายยาวลงมาถึงเข่า  เกล้าผมสูงกลางศีรษะ ปล่อยชายผมลงมาทางบ่าข้างซ้าย  ติดดอกไม้สด มีพวงมาลัยและอุบะยาวลงมาทับชายผม
โอกาสที่แสดง
          แสดงในโอกาสเบ็ดเตล็ด  เช่น  งานมงคลหรือสลับฉากการแสดงรายใหญ่ๆ

การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนม่านมงคล


การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนม่านมงคล


      ฟ้อนม่านมงคล เป็นการฟ้อนที่มีลีลาอ่อนช้อยสวยงาม  ซึ่งสันนิษฐานกันไปต่างๆนานา บางคนสงสัยว่าเป็นของพม่า  เพราะเรียกว่า ฟ้อนม่าน  แต่ฟ้อนม่านมงคลนี้น่าจะเป็นของไทย สังเกตได้จากท่ารำที่อ่อนช้อยงดงาม  มีเพียงท่ารำในตอนต้นเท่านั้นที่ดัดแปลงมาจากของพม่า หากเป็นการฟ้อนรำของพม่า  จะมีลีลาและจังหวะในการฟ้อนรำที่รวดเร็วและเร่งเร้ากว่าของไทย น่าจะเป็นไปได้ที่ไทยประดิษฐ์ท่ารำขึ้น  โดยอาศัยท่ารำของภาคเหนือ  และมีท่ารำของภาคกลางปนด้วย  โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องราชาธิราช  ซึ่งเป็นตำนานพงศาวดารที่มีมาดังนี้
             เนื้อเรื่องกล่าวถึงพวกมอญ  (พม่า)   แบ่งเป็น 2 พวก  คือ กรุงหงสาวดี  กับกรุงรัตนบุระอังวะ  ซึ่งทั้งสองเมืองจะรบกันอยู่เสมอ  กรุงหงสาวดีมีทหารเอก คือ สมิงพระราม  ซึ่งเก่งในทางรบ  คราวหนึ่งทางฝ่ายกรุงหงสาวดีแพ้  สมิงพระรามถูกจับเป็นเชลยขังไว้  ณ  กรุงอังวะ  เมื่อพระเจ้ากรุงจีนยกทัพมาประชิดอังวะ  ทำให้พระเจ้ากรุงอังวะต้องส่งทหารเอกมาต่อสู้กับกามนี ทหารเอกของพระเจ้ากรุงจีน  โดยตกลงว่า หากอังวะแพ้จะเอาเป็นเมืองขึ้น   ถ้าอังวะชนะจะยกทัพกลับไป  พระเจ้ากรุงอังวะจึงได้ออกประกาศหาตัวผู้สมัครออกไปต่อสู้กับกามนีทหารเอกเมืองกรุงจีน  ประกาศผ่านที่คุมขังของสมิงพระราม  สมิงพระรามจึงคิดรับอาสาเพื่อต้องการให้ตนเองพ้นจากการคุมขังและเป็นการป้องกันกรุงหงสาวดี  เพราะหงสาวดีอยู่ทางใต้ของกรุงอังวะ  หากพระเจ้ากรุงจีนตีอังวะก็จะต้องยกทัพเลยไปถึงกรุงหงสาวดี  ถึงอย่างไรอังวะก็เป็นเมืองมอญเหมือนกัน
            สมิงพระรามจึงออกต่อสู้กับกามนี  และได้ชัยชนะ  ฆ่ากามนีตาย  ตามสัญญาของพระเจ้ากรุงอังวะจะยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง  และยกพระราชธิดาให้เป็นมเหสี  สมิงพระรามขอสัญญาอีกข้อหนึ่งว่าห้ามไม่ให้เรียกตนว่าคนขี้คุกหรือเชลย  พระเจ้ากรุงอังวะตกลง   จึงจัดการอภิเษกขึ้น  งานนี้จึงมีการฟ้อนม่านมลคลเป็นการสมโภช
          เพลงฟ้อนม่านมงคลนี้  มีผู้นำทำนองเพลงฟ้อนม่านมงคลไปใส่เนื้อร้องเป็ฯแบบเพลงไทยสากล  ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก  จนครูมนตรี  ตราโมท   ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำในฐานะผู้แต่งทำนองเพลง

การแต่งกาย
           เป็นแบบพม่า  นุ่งผ้าซิ่นกรอมเท้า  ใส่เสื้อเอวสั้น  ริมเสื้อโครงในมีลวดอ่อนงอนขึ้นจากเอวเล็กน้อย  เสื้อแขนยาวถึงข้อมือ  มีแพรคล้องคอ  ทิ้งชายลงมาถึงเข่า  เกล้าผมทัดดอกไม้  มีอุบะห้อยมาทางด้านซ้าย

โอกาสที่แสดง
            ใช้แสดงในงานสมโภช  งานต้อนรับ  และโอกาสเบ็ดเตล็ดต่างๆ

การแสดงภาคเหนือ เพลง กลองสะบัดชัย




กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับหลายศตวรรษ ในสมัยก่อนใช้ ตียามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็น ขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญในการต่อ สู้ให้ได้ชัยชนะ ทำนองที่ใช้ในการตี กลองสะบัดชัยโบราณมี ทำนอง คือ ชัยเภรีชัย ดิถี และชนะมาร
การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
รูปร่างของกลองสะบัดชัย
รูปร่างลักษณะแต่เดิมนั้น เท่าที่พบมีแห่งเดียว คือกลองสะบัดชัยจำลองทำด้วยสำริด ขุดพบที่วัดเจดีย์สูง ตำบลบ้านหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กลองสะบัดชัยดังกล่าวประกอบด้วยขนาดกลองสองหน้าเล็ก ลูก กลองสองหน้าขนาดใหญ่ ลูก ฆ้องขนาดหน้ากว้างพอ ๆ กับกลองใหญ่อีก ใบ พร้อมไม้ตีอีก อัน หน้ากลองตรึงด้วยหมุดตัดเรียบมีคานหามทั้งกลองและฆ้องรวมกัน
ใช้ตีบอกสัญญาณ
1.สัญญาณโจมตีข้าศึก
2.สัญญาณบอกข่าวในชุมชน
เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ
วรรณกรรมเรื่องอุสสาบารส ผูกที่12 ตอนพระขิตราชรบศึกชนะก็มีการตีกลองสะบัดชัยเฉลิมฉลอง ‘' ส่วนว่าริพลโยธาพระขิตราชก็ตี กลองสะบัดชัย เหล้นม่วนโห่ร้องอุกขลุกมี่นันนัก เสียงสนั่นก้องใต้ฟ้าเหนือดินมากนัก ปุนกระสันใจเมืองพานมากนัก หากได้แล้วก็ตีค้อง กลองสะบัดชัย สงวนม่วนเหล้น กวัดแก่วงดาบฟ้อนไปมา

การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนเชิง (ฟ้อนเจิง)




การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนเชิง (ฟ้อนเจิง)


ฟ้อนเจิง
ฟ้อนเจิง เป็นการร่ายรำตามกระบวนท่าตามแบบแผน ที่แสดงออกถึงศิลปะในการต่อสู้ของชาย ซึ่งท่ารำนั้นมีทั้งท่าหลักและท่าที่ผู้รำแต่ละคน จะใช้ความสามารถเฉพาะตัว พลิกแพลงให้ดูสวยงาม
ในระยะแรก ฟ้อนเจิง หมายรวมเอาทั้งการฟ้อนประกอบอาวุธและไม่มีอาวุธ โดยเรียกลักษณะการฟ้อนตามนั้นคือ
ใช้ไม้ฅ้อน หรือไม้พลองประกอบการรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงไม้ฅ้อน
ใช้หอกประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงหอก
ใช้ดาบประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้องเจิงดาบ
ใช้ลา คือดาบวงพระจันทร์ประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงลา ร่ายรำด้วยมือเปล่า เรียกว่า ฟ้อนเจิงมือ
ต่อมา คำว่าเจิง ในการฟ้อนประกอบอาวุธต่าง ๆ ได้กร่อนหายไป และเรียกการฟ้อนเจิงประกอบอาวุธต่าง ๆ ตามชื่อของอาวุธนั้น ๆ เช่น ฟ้อนไม้ฅ้อน ฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนลา และเรียกการร่ายรำในลีลาการต่อสู้ด้วยมือเปล่านี้ว่า ฟ้อนเจิง
การฟ้อนเจิงประกอบอาวุธบางประเภทนั้น ในระยะหลังไม่ค่อยได้รับความนิยม เช่น ฟ้อนเจิงไม้ฅ้อน และฟ้อนเจิงหอก แต่อาจพบอยู่บ้างในการพิธีฟ้อนผี ส่วนการฟ้อนเจิงลานั้นไม่ปรากฏว่ามีการฟ้อนให้เห็น ส่วนการฟ้อนเจิงดาบนั้นได้รับความนิยมมาก ทั้งในการแสดงประกอบการตีกลองอย่างในขบวนแห่ครัวทานเข้าวัด และเป็นที่นิยมมากในการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมบนเวที สำหรับการฟ้อนเจิงมือ หรือฟ้อนเจิงนั้น จะมีลูกเล่นได้มากกว่าการฟ้อนประกอบอาวุธ เพราะคล่องตัวมากกว่าที่จะต้องแสดงการรำอาวุธควบคู่กับการฟ้อน
การฟ้อนเจิงนี้ มักดำเนินร่วมกับตบบ่าผาบ หรือตบขนาบ คือการตบไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้เกิดเสียงดัง การฟ้อนเจิงหรือฟ้อนรำแสดงลีลาประกอบการตบไปตามร่างกายดังกล่าว มักเรียกรวมกันว่า ตบบ่าผาบฟ้อนเจิง และมักเป็นการเริ่มต้นก่อนที่จะมีการฟ้อนอาวุธ หรือกิจกรรมอื่นที่คล้ายคลึงกัน
การเรียนฟ้อนเจิงนั้น ผู้เรียนต้องหามื้อจั๋นวันดี เป็นวันอุดมฤกษ์ ไปขอเรียนกับครูที่มีความสามารถ โดยต้องมีการขึ้นขันหรือ การจัดเครื่องคารวะ คือกรวยดอกไม้ธูปเทียน พลู หมาก ข้าวเปลือก ข้าวสาร สุรา  ผ้าขาว ผ้าแดง กล้วย อ้อย มะพร้าว และค่าครูตามกำหนด ครูบางท่านอาจเสี่ยงทายโดยให้ผู้จะสมัครเป็นศิษย์นำไก่ไปคนละตัว ครูเจิงคือผู้สอนฟ้อนเจิงจะขีดวงกลมที่ลานบ้านแล้วเชือดคอไก่ และโยนลงในวงนั้น หากไก่ของผู้ใดดิ้นออกไปตายนอกเขตวงกลม ก็คือว่าผีครูไม่อนุญาตให้เรียน และหากเรียนจนสำเร็จแล้ว ครูเจิง อนุญาตให้นำวิชาไปใช้ได้เรียกว่าปลดขันตั้ง โดยทำพิธียกขันตั้งคือพานเครื่องสักการะจากหิ้งผีครู แจกธูปเทียนดอกไม้จากในพานให้แก่ศิษย์  เป็นเสร็จพิธี

การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนดาบ




การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนดาบ

       ฟ้อนดาบนี้แสดงได้ทั้งชายและหญิง  ส่วนมากเป็นการรำในท่าต่างๆ ใช้ดาบตั้งแต่2-4-6-8 เล่ม  และอาจจะใช้ได้ถึง 12 เล่ม   นอกจากการฟ้อนดาบแล้ว  ก็อาจมีการรำหอกหรือ ง้าวอีกด้วย  ท่ารำบางท่าก็ใช้เป็นการต่อสู้กัน  ซึ่งฝ่ายต่างก็มีลีลาการฟ้อนอย่างน่าดูและหวาดเสียวเพราะส่วนมากมักใช้ดาบจริงๆ หรือไม่ก็ใช้ดาบที่ทำด้วยหวายแทน  หากพลาดพลั้งก็เจ็บตัวเหมือนกัน  การฟ้อนดาบนี้มีหลายสิบท่า  และมีเชิงดาบต่างๆ เช่น เชิงดาบเชิงแสน (เป็นของพื้นเมืองของภาคเหนือ)    เชิงดาบแสนหวี (มาจากพวกไทยใหญ่ หรือเงี้ยว)   แต่ละเชิงดาบมีการฟ้อนแตกต่างกัน (ปรากฏว่าเชิงดาบแสนหวีเป็นนักดาบที่เก่งกล้าเผ่าหนึ่งในประวัติศาสตร์) การฟ้อนดาบมักใช้กลองสะบัดชัยตีประกอบจังหวะ ผู้แสดงสวมชุดพื้นบ้านภาคเหนือ (นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง สวมเสื้อม่อฮ่อม มีผ้าขาวม้าคาดเอว)

การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนมาลัย




การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนมาลัย

 "ฟ้อนมาลัย" หรือ "ฟ้อนดวงดอกไม้" โดยเพลงฟ้อนดวงดอกไม้ เป็นเพลงเก่าของเชียงใหม่ เจ้าดารารัศมี พระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำมาใช้ในละครเรื่อง "น้อยใจยา" เมื่อกรมศิลปากรแสดงละครพันทางเรื่อง "พญาผานอง" ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2501 อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้นำทำนองเพลงฟ้อนดวงดอกไม้มาใช้เป็นเพลงฟ้อนของนางข้าหลวงของแม่ท้าวคำปิน โดยได้แต่งบทร้องขึ้นมาใหม่ และคุณหญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ประดิษฐ์ท่ารำ ฟ้อนชุดนี้ออกเพลงซุ้ม ซึ่งเป็นเพลงสำเนียงลาวชั้นเดียว

           ปัจจุบันใช้แสดงในโอกาสงานมงคล หรืองานเบ็ดเตล็ดทั่วไป

การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนสาวไหม



การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนสาวไหม

ฟ้อนสาวไหม เป็นฟ้อนที่ต่างจาก การฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ซึ่งฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน เกิดจากราชสำนัก (คุ้มเจ้าดารารัศมี) แต่การฟ้อนสาวไหมเกิดจาก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในการทอผ้าฝ้ายของชาวล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านศรีทรายมูล ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด การฟ้อนสาวไหม ซึ่งบุคคลผู้ที่คิดค้นการฟ้อนนี้ คือ นายกุย สุภาวสิทธิ์ อดีตศิลปินช่างฟ้อน (ปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว) แห่งหมู่บ้านศรีทรายมูล หมู่ที่ ๑๑ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย แต่เดิมท่านเป็นชาวบ้านแม่คือ ตำบลแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน และเป็นครูช่างฟ้อนผู้หนึ่งที่ได้สอนศิลปะการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อครูปวน คำมาแดง ซึ่งเป็นผู้ชำนาญทางด้านนี้จนได้รับสมญานามว่า “ปวนเจิง” (หมายถึง นายปวน ผู้เชี่ยวชาญในการฟ้อนเชิง) จากนั้นนายกุย สุภาวสิทธิ์ ได้ถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนต่างๆ แก่หนุ่มสาวชาวบ้านศรีทรายมูล เมื่อท่านได้ถ่ายทอดศิลปะเหล่านี้แก่ชาวบ้านศรีทรายมูล เด็กหญิงบัวเรียวก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ นางบัวเรียว (สุภาวสิทธิ์) รัตนมณีภรณ์ ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการฟ้อนมาจากบิดาตั้งแต่ อายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
ด้วย นายกุย เป็นผู้มีความชำนาญและความสามารถทางศิลปะการฟ้อนของฝ่ายชาย อันได้แก่ฟ้อนดาบ และฟ้อนเชิง นอกจากการฟ้อนทั้ง ๒ อย่างจะเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาแล้วยังสามารถนำมาเป็นอาวุธที่ใช้ป้องกันตัวจากการถูกทำร้ายได้ด้วย ด้วยเหตุนี้นายกุยคิดว่าการที่จะถ่ายทอดการฟ้อนเชิง และฟ้อนดาบให้แก่บุตรสาวอย่างเดียวคงไม่พอ จึงได้ประดิษฐ์การฟ้อนที่นำเอากระบวนการทอผ้าฝ้ายของชาวล้านนา และการฟ้อนเชิงของผู้ชายมาประดิษฐ์ท่ารำเรียกว่า “ฟ้อนสาวไหม” การที่เรียกชื่อว่าฟ้อนสาวไหมมีเหตุผล ๓ ประการ ดังนี้
ประการที่ ๑ คนเมือง หรือคนภาคเหนือเรียกด้ายเย็บผ้าว่า “ไหมเย็บผ้า”
ประการที่ ๒ คำว่าสาวไหม เป็นกระบวนท่าหนึ่งในการฟ้อนเชิง ของชาวล้านนา
ประการที่ ๓ เพื่อสวยงามตามรูปภาษา นางบัวเรียวได้กล่าวว่า บิดาเลือกชื่อนี้เพราะคำว่าฟ้อนสาวไหมมีความสวยงามมากกว่าคำว่าฟ้อนสาวฝ้าย หรือฟ้อนปั่นฝ้าย
จากการได้รับการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าว นางบัวเรียวจึงได้นำแสดงสู่สายตาประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย และได้มีโอกาสนำไปเผยแพร่ยังจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการนำของคุณชาญ สิโรรส จากการเผยแพร่ดังกล่าวจึงได้รับทั้งคำชมและคำแนะนำในการฟ้อน ทำให้นางบัวเรียวได้ทำการปรับปรุงท่าฟ้อนสาวไหมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้ากับสรีระการฟ้อนของผู้หญิงมากยิ่งขึ้น และเข้ากับโอกาสในการแสดงตามงานต่างๆ จนมีความงดงามตามแบบการฟ้อนพื้นบ้านล้านนาอย่างแท้จริง

การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนเงี้ยว



การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนเงี้ยว
     เป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวเขาเผ่าหนึ่งซึ่งเรียกว่า “เงี้ยว”  มีภูมิลำเนาในชานสเตตส์ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของไทย          นางลมุล  ยมะคุปต์  ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์  กรมศิลปากรได้มีโอกาสสอนละครที่คุ้มหลวง  เจ้าแก้วนวรัฐ  ผู้ครองนครเชียงใหม่  และได้เห็นการรำฟ้อนเงี้ยว เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “เงี้ยวปนเมือง”  ของคุ้มเจ้าหลวง ซึ่งมีนางบุญหลง  บุญจูหลง  เป็นผู้ฝึกสอน  ในความควบคุมของพระราชายาดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 โดยทรงมอบหมายให้ครูหลง  บุญชูหลง  ร่วมกับครูฟ้อนในคุ้มคิดท่ารำ โดยมีครูรอด  อักษรทับ เป็นผู้คิดคำร้องเข้ากับทำนองซอเงี้ยว ท่ารำของฟ้อนเงี้ยวส่วนหนึ่งเป็นการฟ้อนที่เข้ากับบทร้อง หรือคำร้องที่เรียกว่า รำตีบท” ซึ่งเพลงร้องตอนแรกเริ่ม จะทอดเสียงยาวว่า
            “เขี้ยวลายสารโถ่ (ถั่ว) ต้มเน้อ
            พี่บ่หย่อน  เมียงนาง  น้องโลม
            ยาลำต้มโตยสู  พี่เมา  แหล่
            จากนั้นจะเป็นคำร้อง ทำนองซอเงี้ยวว่า
            “อะโหลโลโล  ไปเมืองโก  โตยพี่เงี้ยว
            หนทางคดเลี้ยว  ข้าน้อง  จะเหลียวถาม
            หนทางเส้นนี้  เปนถนน  ก็เมืองพาน
            เฮยพ่อเฮย  ผ้าสีปูเลย  พาดเกิ่งตุ๊มเกิ่ง
            เสเลเมา  บ่าเดี่ยว  เปิ๊กเซิก็
            ข้ามน้ำเลิก็  ก็บ่ได้ขอด  สายถง
            หนามเก๊ดเก๊า  มาจ่องมาขน  ก็แมวโพง
            ต๋าวันลง  เจ้นจะแผว  ต๋าฝั่ง
            เสเลเมา  บ่าเดี่ยว  ป๊อกซ็อก
            เหล้นพ้ายป๊อก ก็เส(เสีย)  ตึงลูกตึงหลาน
            เหล้นไปแถมหน้อย ก็เส(เสีย) ตึงปิ่นตึงลาน
            เนาะพี่เนาะ  จะขี่เฮือเหาะ ขึ้นบนอากาศ
            อะโหลโลโล  ส้มบ่าโอ จิน้ำพริก
            เหน็บดอกปิ๊กซิก   มาแป๋งตาเหลือก  ตาแล
            ไปทางปู๊น  เป๋นประตู  ก็ท่าแพ
            งานนักแก  อะโหลโลโล  แม่ฮ้างแม่หม้าย” 
      ต่อมา นางลมุล  ยมะคุปต์ ได้รับราชการเป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ (ขณะนั้นเรียกว่าโรงเรียนนาฏดุริยางค์ศาสตร์)  และได้นำลีลาท่าฟ้อนเงี้ยวมาปรับปรุงขึ้นใหม่ให้งดงามตามแบบนาฏศิลป์ไทย  บรรจุไว้ในหลักสูตรวิชานาฏศิลป์ เมื่อ พ.ศ.2478
      บทร้องฟ้อนเงี้ยวมีลักษณะอวยพร  คืออาราธนาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาปกป้องคุ้มครอง  อวยชัยให้พร  เป็นสวัสดิมงคลสืบไป
การแต่งกาย
     แต่งกายในชุดหญิงล้วน หรือชุดชาย-หญิง  ส่วนในการแต่งกายจะมีทั้งแบบชาวเขาและ แบบฟ้อนเงี้ยวที่กรมศิลากรประดิษฐ์ขึ้น และแบบพื้นเมือง  ที่น่าสังเกตอีกอย่งหนึ่งก็คือ ผู้แสดงจะถือกิ่งไม้ไว้ในมือทั้งสองข้าง
เครื่องดนตรี
      ใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นพี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่  สุดแท้แต่โอกาสและความเหมาะสม

บทร้องฟ้อนเงี้ยว
ภาษาคำเมือง
                     เงี้ยวล้ายซั่นโถ่  ต้มเน้อ  ปี๊บ่หย่อนเลี้ยงนาง  น้องลม
                     อย่าลั่นตม  ซวยตู๋  ปี๊เลา  แล่นๆๆๆ
          ขออวยชัยพุทธิไกช่วยก้ำ                   ทรงคุณเลิศล้ำไปทุกทั่วตัวตน
     จงได้รับสรรพมิ่งมงคล  นาท่านา                 ขาเตวาช่วยฮักษาเตอะ
     ขอหื้ออยู่สุขา  โดยธรรมานุภาพเจ้า              เตพดาช่วยเฮา   หื้อเป็นมิ่งมงคล
     สังฆานุภาพเจ้า  ช่วยแนะนำผล                   สรรพมิ่งทั่วไปเนอ
     มงคลเตพดาทุกแห่งหน                           ขอบรรดลช่วยให้ก้ำจิม

ภาษากลาง
            ขออวยชัยพุทธิไกช่วยค้ำ                 ทรงคุณเลิศล้ำไปทุกทั่วตัวตน
     จงได้รับสรรพมิ่งมงคล  นาท่านา                 ขาเทวาช่วยรักษาเถิด
     ขอให้อยู่สุขา  โดยธรรมานุภาพเจ้า               เทพดาช่วยเรา   ถือเป็นมิ่งมงคล
     สังฆานุภาพเจ้า  ช่วยแนะนำผล                   สรรพมิ่งทั่วไปเทอญ
     มงคลเทพดาทุกแห่งหน                           ขอบรรดลช่วยให้ค้ำจุน

การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนเทียน



การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนเทียน
ประวัติความเป็นมา
      ฟ้อนเทียน นับเป็นระบำแบบเย็นๆ แบบหนึ่งตามลักษณะของการฟ้อนของไทยภาคเหนือ ผู้ฟ้อนถือเทียนจุดไฟมือละเล่มทั้ง มือ ตามปกติใช้ฟ้อนในที่กลางแจ้งในเวลาตอนกลางคืน ยิ่งมีนักฟ้อนมากยิ่งดี ถ้าเป็นตอนกลางวันมักจะเป็นการฟ้อนเล็บ เข้าใจว่าฟ้อนเทียนนี้แต่คงจะเดิมเป็นการฟ้อนสักการบูชาแด่สิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับ Temple dance แต่ก่อนมาแสดงประกอบพิธีเฉพาะในงานสำคัญในพระราชฐาน เช่นในคุ้มหลวง ผู้ฟ้อนโดยมากล้วนเป็นเจ้านายเชื้อพระราชวงศ์ฝ่ายในทั้งสิ้นในสมัยโบราณจึง มีศิลปะที่ไม่สู้จะได้ชมบ่อยนัก ความงามของการฟ้อนอยู่ที่ชมแสงเทียนที่ถือแสงวับๆ แวมๆ จากดวงเทียนที่ถือในมือ การฟ้อนเทียนครั้งสำคัญที่เราได้ยินเลื่องลือกัน เป็นครั้งหลังก็เมื่อคราวพระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงฝึกหัดหญิงชาวเหนือ ให้ฟ้อนถวายรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จประพาสมณฑล ฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ.2496 และครูนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรได้ฝึกจำมา แต่บทร้องใช้ประกอบการรำนั้นมีทั้งบทพระราชนิพนธ์ของเจ้าดารารัศมี และบทที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ โดยอาศัยเค้าของเก่า
ลักษณะการแสดง
                ผู้ฟ้อนเป็นหญิงล้วนถือเทียนจุดเทียนมือละเล่ม นิยมแสดงในเวลากลางคืน ความงามของการฟ้อนเทียนอยู่ที่แสดงเทียน เต้นระยิบระยับ ขณะที่ผู้ฟ้อนหมุนข้อมือและลีลาการเคลื่อนไหวช้าๆ เห็นแสงเทียนเดินเป็นทาง มีการแปรขบวน ควงคู่ สลับแถว เข้าวง ต่อเมื่อ ฯลฯ งดงามมาก

การแต่งกาย
                นุ่ง ซิ่นยาวกรอม สวมเสื้อแขนยาว คอปิด คาดเข็มขัดทับ ห่มสไบ เกล้าผมมวยสูง ประดับดอกไม้ล้อมมวย ห้อยอุบะยาวเคลียไหล่ ถือเทียนมือละเล่ม

ดนตรีประกอบ
           1. ปีแน
           2. กลองแอว์
           3. กลองตะโล้ดโป๊ด
           4. ฉาบใหญ่
           5. ฆ้อมโหม่ง
           6. ฆ้องหุ่ย

การแสดงของภาคเหนือ เพลง ฟ้อนเล็บ





“ฟ้อนเล็บ” เป็นการฟ้อนชนิดหนึ่งของชาวไทยในภาคเหนือผู้ฟ้อนจะสวมเล็บยาว ลีลาท่ารำของฟ้อนเล็บคล้ายกับฟ้อนเทียนต่างกันที่ ฟ้อนเทียนมือทั้งสองถือเทียน ตามแบบฉบับของการฟ้อน นางลมุล   ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย ได้นำลีลาท่าฟ้อนอันเป็นแบบแผนมาจากเจ้าคุ้มหลวง มาฝึกสอน จัดเป็นชุดการแสดงที่น่าชื่นชมอีกชุดหนึ่ง

ฟ้อนแต่ละครั้งจะใช้จำนวนคนแตกต่างกันไป นิยมกันมี ๔ คู่ ๖ คู่ หรือ ๘ คู่  การแต่งกาย  จะแต่งกายแบบไทยชาวภาคเหนือสมัยโบราณ คือ เกล้าผมทัดดอกไม้และอุบะ นุ่งผ้าตามแบบชาวเหนือ สวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาว คอกลม ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง และสวมเล็บมือยาวทั้ง ๘ นิ้ว เว้นแต่นิ้วหัวแม่มือ

 การแสดงฟ้อนเล็บ  ผู้แสดงจะร่ายรำตามทำนองเพลงที่เชื่องช้า ส่วนการใช้ท่าฟ้อนเล็บนั้น ช่างฟ้อนมักจะจำต่อๆ กันมา เป็นท่าฟ้อนดั้งเดิมของชาวเหนือ คือ
        ๑.  ท่าพายเรือ
        ๒.  ท่าบิดบัวบาน
        ๓.  ท่าหย่อน
        
ต่อมาเมื่อนาฎศิลป์ทางภาคกลางแพร่มาสู่ภาคเหนือ การฟ้อนเล็บก็มีการปรับวิธีการฟ้อนให้เข้ากับท่ารำแม่บท เพิ่มท่ารำให้มากขึ้นและแตกต่างกันไป เครื่องดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนเป็นขบวนกลองยาว ซึ่งเป็นดนตรีของชาวภาคเหนือ ได้แก่ กลองแอร์ กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบ ฆ้องโหม่งใหญ่ ฆ้องโหม่งเล็ก ฉิ่ง ปี่ เวลาดนตรีบรรเลง เสียงปี่ดังไพเราะเยือกเย็นมาก ท่วงทำนองเชื่องช้า เสียงกลองจะตีดัง ตะ ตึ่ง นง ตึ่ง ต๊ก ถ่ง อย่างนี้เรื่อยไป ส่วนช่างฟ้อนก็จะฟ้อนช้าๆ ไปตามลีลาของเพลง

ชื่อชุดการแสดงทางภาคเหนือ



ชื่อชุดการแสดงทางภาคเหนือ
  • ฟ้อนเล็บ
  • ฟ้อนเทียน
  • ฟ้อนเงี้ยว
  • ฟ้อนสาวไหม
  • ฟ้อนมาลัย
  • ฟ้อนดาบ
  • ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)
  • ตีกลองสะบัดชัย
  • ฟ้อนม่านมงคล
  • ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา
  • ฟ้อนนก(กิงกาหล่า-ไทยใหญ่)
  • ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา) ฯลฯ